พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณ์แห่งประเทศจีน
 การเผยแพร่:2010-05-05 15:15:57   ดูความถี่:0 แหล่ง:CRI
   สวัสดีครับคุณผู้ฟัง พบกันเช่นเคยนะครับ กับรายการดีๆ ที่จะนำสาระความรู้และความเพลิดเพลินจากพิพิธภัณฑ์

\
 
สวัสดีครับคุณผู้ฟัง พบกันเช่นเคยนะครับ กับรายการดีๆ ที่จะนำสาระความรู้และความเพลิดเพลินจากพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในเมืองจีนมาเล่าสู่กันฟัง 
 
สำหรับสัปดาห์นี้ ผมขอนำเสนอเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณ์แห่งประเทศจีน ซึ่งตั้งอยู่ด้านข้างของจตุรัสเทียนอันเหมิน ค่อนไปทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้เพียงนิดเดียว
 
ท่ามกลางนักท่องเที่ยวหนาตาในทุกฤดูกาล แต่ผู้ที่แวะเข้ามาเยี่ยมชมที่นี่กลับมีจำนวนไม่มากนัก อาจจะด้วยเพราะบุคลิกของสถานที่ ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์และเรื่องการสะสมเหรียญโบราณเท่านั้นที่จะเข้ามาความรู้และข้อมูลต่างในในสถานที่แห่งนี้
 
ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะให้ความรู้ในเรื่องประวัติศาสตร์การใช้เหรียญในรูปแบบต่างๆ ในฐานะตัวแทนคุณค่าของสินค้า ซึ่งมีบทบาทขึ้นมาตั้งแต่ยุคก่อนศริสตศักราชจนมาถึงเหรียญเงินที่ผลิตขึ้นในยุคสมัยใหม่ แต่ก็ไม่มีเนื้อหาที่เกี่ยวโยงกับเหรียญหรือธนบัตรที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
 
ซึ่งนอกจากประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเหรียญกษาปณ์ในแต่ละยุคแล้ว ยังอธิบายขั้นตอนและกรรมวิธีการผลิตด้วย
 
ซึ่งประเทศจีนในฐานะที่เป็นประเทศที่ระบบเศรษฐกิจมายาวนาน ดินแดนในยุคโบราณก็แบ่งแยกออกเป็นแว่นแคว้นมากมาย แต่ละสังคมก็มีการกำหนดค่าของเหรียญกษาปณ์ของตนเองขึ้น อีกทั้งยังมีการกำหนดค่ารวมด้วย เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางระบบเศรษฐกิจได้
 
การศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับเส้นทางตลอดสายธารจากต้นกำเนิดมาจนถึงปัจจุบันจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่ง
 
เหรียญกษาปณ์นั้นมีคุณสมบัติทั้งในการบ่งบอกฐานะของผู้ครอบครอง และยังเป็นเครื่องมือในการเชื่อมร้อยระบบเศรษฐกิจและสังคมเข้าด้วยกันด้วย และในฐานะผลิตภัณฑ์เชิงอุตสาหกรรมเหรียญกษาปณ์ย่อมต้องการมีคุณภาพที่แตกต่างกัน เพื่อบ่งบอกคุณค่า ทั้งรูปร่าง น้ำหนัก และความบริสุทธิ์ของโลหะที่นำมาทำด้วย
 
ในประเทศจีนนั้น ก็ไม่ต่างจากอารยธรรมในแห่ลงอื่นๆ คือ เริ่มจากการแลกเปลี่ยนสินค้าต่อสินค้าก่อน จากนั้นก็เริ่มมีการใช้เงินเปลือกหอย จนพัฒนาเข้าสู่ยุคสมัยใหม่มากขึ้น ก็มีการแลกสินค้ากับจอบ เสียม และมีด เพราะเป็นของหายาก และเหล็กมีราคาแพง
 
\
 
ท่านผู้ฟังลองนึกภาพดูแล้วกันนะครับ ว่าจะไปทำการค้าแต่ละครั้งนั้น ต้องหอบข้าวของไปมากเพียงใด แถมขากลับยังต้องแบกจอบเสียมกลับมาอีกทั้งหนักทั้งพะรุงพะรัง
  
ดังนั้นพอถึงราวสมัยราชวงศ์ซาง ประมาณ 700 ปี ก่อนคริสตศักราช จึงมีผู้คิดทำเหรียญกษาปณ์ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นสิ่งตอบแทนสินค้า โดยยังคงทำเป็นรูปมีดและจอบอยู่ เงินชนิดนี้มีชื่อเรียกว่า "พู"
 
ผมคาดเดาเอาว่า ยุคนั้นพัฒนาการในการถลุงเหล็กคงพัฒนาขึ้นมากแล้ว เครื่องที่เคยใช้แลกของกันมาก่อนจึงหาง่ายขึ้น หรือไม่ก็แลกกันมากจนไม่มีที่เก็บแล้วนั่นเอง จึงมีการออกแบบและกำหนดค่าของเงินขึ้นมา เพื่อใช้ซื้อขายสินค้า แต่ด้วยคุณค่าของจอบ เสียม และมีดยังคงอยู่ ผู้ออกแบบจึงผลิตเหรียญกษาปณ์รุ่นแรกออกมาเป็นรูปดังกล่าว ซึ่งมีขนาดความยาวประมาณ 5-7 นิ้วทั้งบริเวณด้ามยังมีห่วงเล็ก ไว้สำหรับร้อยให้เข้ากับ ทำให้สามารถผูกไว้กับเอวได้ ทำให้เกิดความสะดวกในการพกพา จนการเป็นเครื่องประดับสำคัญของการแต่งกายไปด้วย
 
เงิน "พู" นั้น ใช้แม่พิมพ์ดินเหนียวประกบกันสองด้าน จากนั้นเอามาประกบกัน โดยใช้เหล็กมัดกันให้แน่นสนิท จึงค่อยเทโลหะเข้าไปในแม่พิมพ์ เมื่อแกะแม่พิมพ์ออกมาแล้ว จะพบว่ามีส่วนที่ซึมเกินออกมาจากบล็อกเล็กน้อย ซึ่งต้องนำมาขัดและตะไบขอบออกให้เรียบเรียบร้อยก่อนจึงค่อยใช้ได้ ข้อดีของเทคนิกกการอัดบล็อกด้วยดินเหนียวก็คือ สามารถผลิตเงินออกมาได้ค่อนข้างจำกัด เพราะข้อเสียของมันก็คือ แม่พิมพ์แต่ละอันนั้นใช้ได้ครั้งเดียว โดยในแต่ละชิ้นที่ผลิตออกมานั้นจะมีสถานที่ที่จัดทำ น้ำหนัก และราคาด้วย ซึ่งเงินชนิดนี้มีใช้แพร่หลายในมณฑลซานตงและซ่านซี
 
ต่อมามีการผลิตเหรียญกษาปณ์ด้วยแม่พิมพ์หิน ซึ่งเป็นรูปเหรียญรูปแบบวงกลม และเจาะรูตรงกลางเป็นรูปสี่เหลี่ยมอย่างที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะเป็นเหรียญที่นิยมอย่างแพร่หลาย และมีอยู่ในมือนักสะสมทั่วโลก เหรียญชนิดนี้เริ่มทำขึ้นในสมัยราชวงศ์เหลียง ของยุคหนาน-เป่ยเฉา (ใต้-เหนือ) ด้วยความที่แม่พิมพ์เป็นหิน จึงสามารถทำเหรียญออกมาได้บางเพียง 0.25 - 0.30 ซม. เท่านั้น โดยมีชื่อเรียกว่า "เหรียญป้านเหลียง"
 
เหรียญรูปแบบนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะมีขนาดเล็กพกพาสะดวก และใช้ต่อกันมาอีกหลายพันปี ซึ่งก็มีการพัฒนาเทคนิกการทำขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงขีดสุด นอกจากสะท้อนให้เห็นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สิ่งสำคัญที่สุดคือ การสะท้อนสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในยุคนั้นๆ ด้วย
 
แต่เนื่องด้วยประเทศจีนในสมัยก่อน ยังแยกออกเป็นเมืองเล็กเมืองน้อยจำนวนมาก ต่างแยกเป็นอิสระต่อกัน ใครมีกำลังมากก็ผลิตเงินออกมามาก เพื่อเพิ่มศักยภาพและกำลังของตน อีกทั้งก๊กเล็กๆ ก็ยังสามารถผลิตเหรียญของตนเองได้ ทำให้ค่าของเงินลดลง และไม่สามารถควบคุมอัตราการหมุนเวียนของเงินได้
 
ซึ่งในยุคนี้นี่เอง ยังมีการพัฒนาการผลิตเหรียญเงิน ด้วยเทคนิกแม่พิมพ์สัมฤทธิ์ และมีพิมพ์ทรายขึ้นมาด้วย ซึ่งสามารถผลิตได้จำนวนมาก ซึ่งยิ่งทำให้เงินล้นตลาดมากยิ่งขึ้น
 
\
 
ในประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์ฮั่นระบุว่า อัครเสนาบดีผู้หนึ่ง ถึงกับมีโรงงานผลิตเหรียญกษาปณ์ถึง 9 แห่ง นอกจากนี้จักรพรรดิฉจิ๋นสื่อฮวงตี้ยังทรงให้หล่อเหรียญสัมฤทธิ์และเหรียญทองแดงที่มีคำว่า "ฮั่นเสียง" ที่มีน้ำหนัก 12 ฉู หรือ ครึ่งออนซ์ขึ้นใช้ด้วย ซึ่งนับเป็นเหรียญที่มีน้ำหนักและคุณภาพดีมาก และใช้กันโดยแพร่หลายในยุคราชวงศ์ฮั่น
 
เงินโบราณของจีนยังมีอีกอย่างหนึ่งที่ใช้ไม่แพร่หลายนัก เพราะมีราคาแพง และนิยมใช้ซื้อเฉพาะสิ่งที่มีราคาค่างวดสูงๆ เท่านั้น ซึ่งในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่ได้ระบุไว้ แต่ก็น่าที่จะกล่าวถึงสักเล็กน้อย เพราะถือได้ว่าเป็นการเพิ่มความสมบูรณ์ของเส้นทางเงินตราโบราณของจีน
 
เงินดังกล่าวนี้มีชื่อเรียกว่า "หยวนเป่า" ซึ่งคนไทยเชื้อสายแต้จิ๋วรู้จักกันในชื่อ "ง้วนป้อ" หรือที่ผู้ชมภาพยนตร์กังฟู และคอนิยายกำลังภายในรู้จักกันเป็นอย่างดีในชื่อ "เงินตำลึง"
 
เงินชนิดนี้มีรูปร่างคล้ายเรือ ปลายสองข้างแหลมเชิดขึ้นลำเรือมีลักษณะนูนขึ้นมา ซึ่งได้พัฒนามาจากของแต่ดั้งเดิมที่แบนๆ เพราะคนทั่วไปเห็นว่ามีลักษณะคล้ายโลงศพมากกว่าลำเรือ ด้านข้างของเงินชนิดนี้จะมีการสลักลวดลาย และตัวอักษรมงคลตามความเชื่อของจีนไว้ด้วย
 
ซึ่งตามบันทึกแล้วเงินชนิดนี้เริ่มใช้กันในสมัยราชวงศ์ถัง โดยเป็นเงินที่มีค่าสูงมากกว่าเงินชนิดอื่นๆ นิยมใช้ในการจับจ่ายสินค้าราคาสูงๆ เช่นการซื้อม้า
 
ในสมัยราชวงศ์ถัง เรียกเงินรูปเรือนี้ว่า "อิ๋นถิ่ง" ต่อมา เมื่อมองโกลสามารถรวบรวมทุกถิ่นแคว้นเขาด้วยกันเป็นผลสำเร็จ ก็ได้พยายามวางโครงสร้างการปกครองใหม่ทั้งหมด รวมทั้งการกำหนดเรื่องเงินตราด้วย และเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยของตน จึงเปลี่ยนการเรียกเงินที่มีค่าสูงสุดนี้ จาก "อิ๋นถิ่ง" มาเป็น "หยวนเป่า" ให้ตรงกับชื่อราชวงศ์ของตน และมีความหมายว่า "ของวิเศษแห่งราชวงศ์หยวน" ซึ่งในยุคนี้ "หยวนเป่า" ยังทำจากเงินแท้อยู่ แต่ยังมีลักษณะเหมือนโลงศพอยู่นั่นเอง พอสิ้นราชวงศ์หยวนแล้ว จึงมีการทำให้ตรงกลางนูนขึ้นมา และมีการเคลือบผิวให้เป็นสีทองอร่าม เพื่อเพิ่มคุณค่า ตามความเชื่อของจีนอีกด้วย
 
แต่อีกนัยหนึ่งที่มีคนกล่าวหาว่าเงิน "หยวนเป่า" มีหน้าตาคล้ายโลงศพนั้น ผมสันนิษฐานว่า เป็นความคับแค้นของชาวฮั่นที่ถูกปกครองด้วยชาวมองโกล พอหมดอำนาจก็เลยเกิดการเปรียบเปรยในทางไม่ดี แล้วก็ดัดแปลงเงินเสียใหม่ เพื่อไม่อยากให้เกิดการจดจำ เพียงแต่ว่ารางวงศ์ที่มาปกครองต่อ ไม่มีพลังเพียงพอ จึงไม่สามารถเปลี่ยนชื่อเรียกที่คนคุ้นเคยมาหลายร้อยปีได้
 
เหรียญกษาปณ์แบบกลมเจาะรูสี่เหลี่ยมและเงินตำลึงก็ใช้มายาวนานจวบจนถึงยุคปลายราชวงศ์สุดท้ายของจีน จนกระทั่งเมื่อราวช่วงกลางศตวรรษที่ 18 ที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม จึงเกิดเครื่องจักรที่ใช้สำหรับการผลิตเหรียญกษาปณ์ขึ้น
 
\
 
ในปี 1886 จาง จื้อตง ผู้ว่าราชการมณฑลกว่างตง และกว่างซี ซึ่งเป็นนักการเมืองคนสำคัญในสมัยปลายราชวงศ์ชิงได้นำเข้าเครื่องจักรมาจากประเทศอังกฤษและจัดตั้งโรงกษาปณ์แห่งกว่างตงขึ้น ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาาลกลางและทางการของกว่างตง โรงกษาปณ์แห่งนี้ได้นำมาซึ่งยุคสมัยใหม่ของระบบการเงินในเมืองจีนด้วย
  
เหรียญยุคใหม่นี้เป็นวงกลมดังเช่นในปัจจุบัน แต่มีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมากกว่า รุ่นแรกนั้นด้านหน้าทำเป็นรูปมังกรอย่างสวยงาม
 
พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณ์แห่งประเทศจีน อยู่ภายใต้สังกัดธนาคารแห่งประเทศจีน มีหน้าที่หลักในการเก็บสะสม วิจัย การจัดแสดง และการจัดการประกวดด้วย
 
นอกจากทำการจัดแสดงประวัติการกำเนิดเหรียญกษาปณ์ในยุคต่างๆ แล้ว ยังเป็นหน่วยงานหลักในการประสานกับชมรมนักสะสมต่างๆ ในประเทศจีน อีกทั้งมีการจัดสัมมนาระหว่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง
 
และมีการแจกวารสารให้สำหรับสมาชิกของพิพิธภัณฑ์ เพื่อทราบความเคลื่อนไหวของชมรมและนักสะสมเหรียญกษาปณ์จากมณฑลต่างๆ และแวดวงที่เกี่ยวข้องด้วย
 
สำหรับผู้ที่สนใจทั่วไป สามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ทุกวัน เว้นวันจันทร์ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.30 น. ค่าบัตรผ่านประตูก็เพียง 10 หยวนเท่านั้น
 
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่ในอาคารแบบยุโรป และตั้งอยู่ด้านข้างของอาคารสำนักงานธนาคารแห่งประเทศจีนซึ่งมีลักษณะสถาปัตยกรรมเช่นเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันไม่ได้เปิดใช้งานแล้ว คงเก็บไว้เป็นอนุสรณ์สถานเพียงอย่างเดียว
 
แม้ภายในห้องแสดงจะมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก แต่ก็ไม่พลุกพล่านไปด้วยผู้คน สามารถใช้เวลาในการเดินชมได้นานเท่าที่ต้องการ พิจารณาต้นกำเนิดของเหรียญกษาปณ์ทางเทคนิกวิธี พร้อมทั้งมีเรียญจริง จัดแสดงให้ได้เห็นอย่างชัดเจน พร้อมทั้งแผ่นข้อมูลต่างๆ อีกทั้งแบบจำลองของห้องเผาดินเผา แท่นอัดเหรียญแม่แบบทราย และความสำคัญของเหรียญกษาปณ์ในแต่ละยุคสมัย
 
เงินเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเปลี่ยนประวัติศาสตร์ และอำนาจของผู้คน อย่างที่พูดกันว่า "อำนาจทั้งในตัวเองมันเอง และอำนาจจากผู้ถือครอง" ซึ่งจากต้นกำเนิดเมื่อหลายพันปีก่อน แต่ความหมายนี้ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด แม้ปัจจุบันจะเป็นเงินแบบธนบัตร หรือเป็นเงินแบบเครดิตที่เราไม่ได้สัมผัสมันจริง เห็นเพียงแต่ตัวเลขที่เปลี่ยนแปลงขึ้นลง ก็ยิ่งแสดงถึงอำนาจของมันได้อย่างยิ่ง
 
เราอาจจะคิดไปว่า จะอยู่ได้อย่างไรถ้าไม่มีเงิน หรือเราจะกลับไปใช้การแลกเปลี่ยนสินค้าและความต้องการกันแบบยุคดึกดำบรรพ์ ซึ่งก็คงเป็นไปไม่ได้ ซึ่งหลายประเทศในโลกก็ได้พยายามลองเดินไปสู่วิถีแห่งความเสมอนั้นมาแล้ว แต่ก็เป็นผลสำเร็จ
 
ฉะนั้นเงินจึงต้องดำรงอยู่ เพียงแต่ว่าเราต้องเรียนรู้ในอำนาจแห่งมัน และใช้มันให้เป็น
 
รายการหน้าต่างเมืองจีนในวันนี้ ขอจบลงเพียงเท่านี้
 
พบกับผมพัลลภ สามสี ได้ใหม่สัปดาห์หน้า
 
สวัสดีครับ
 

ขอแนะนำให้คุณอ่าน

ช่องแนะนำ

ด้านบน คิดเห็น