ความร่วมมือทางการเงินภูมิภาคแพนอ่าวเป่ยปู้
 การเผยแพร่:2010-05-05 14:55:49   ดูความถี่:0 แหล่ง:CRI
   ความร่วมมือทางการเงินเป็นส่วนประกอบสำคัญในความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคแพนอ่าวเป่ยปู้ ซึ่งรวมถึงจีน เ

ความร่วมมือทางการเงินเป็นส่วนประกอบสำคัญในความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคแพนอ่าวเป่ยปู้ ซึ่งรวมถึงจีน เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และบรูไน เป็นต้น เบื้องหน้าวิกฤตเศรษฐกิจโลก ความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาคนี้ไม่ได้รั้งฝีก้าวแต่ประการใด กลับทวนกระแสเร่งพัฒนาให้เร็วขึ้น
 
ในที่ประชุมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคแพนอ่าวเป่ยปู้ 2009 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองหนานหนิง เขตปกครองตนเองชนชาติจ้วงกวางสีของจีนเมื่อเร็วๆ นี้ นายซู หนิง รองผู้ว่าการธนาคารประชาชนจีนกล่าวว่า
 
"ในช่วงพิเศษที่จะต้องฝ่าวิกฤตการเงินระหว่างประเทศนี้ การกระชับการแลกเปลี่ยนความร่วมมือในภูมิภาคแพนอ่าวเป่ยปู้ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ให้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจและการเงินมีการไหลเวียนในระดับที่สมเหตุสมผล ใช้ความเหนือกว่าของแต่ละฝ่ายและมีส่วนเกื้อกูลแก่กัน ผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียวเพื่อการพัฒนา ทั้งนี้จะมีความหมายสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อการคุ้มครองผลประโยชน์เศรษฐกิจส่วนภูมิภาค และส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศต่างๆ ในภูมิภาคให้พัฒนาอย่างมั่นคงและค่อนข้างเร็ว"
 
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ฝ่ายจีนได้เสนอ 8 มาตรการในการเพิ่มความร่วมมือกับอาเซียน รวมถึง แต่ละประเทศควรมุ่งใช้มาตรการที่มีประสิทธิผลอย่างจริงจังเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศตน และสร้างหลักประกันให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนา จีนจะส่งเสริมภาคธุรกิจไปลงทุนที่อาเซียนให้มากขึ้น และจะให้การสนับสนุนทางการเงินที่ทรงพลัง ตลอดจนจะจัดตั้ง "กองทุนความร่วมมือด้านการลงทุนจีน-อาเซียน" ด้วยวงเงิน 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และจีนจะให้สินเชื่อแก่ประเทศอาเซียนวงเงิน 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในระยะเวลา 3-5 ปี เป็นต้น มาตรการเหล่านี้นับเป็นเสาค้ำจุนความร่วมมือจีน-อาเซียน ตลอดจนความร่วมมือเศรษฐกิจภูมิภาคแพนอ่าวเป่ยปู้ภายใต้กรอบความร่วมมือจีน-อาเซียน
 
หลังเกิดวิกฤตการเงินโลก การที่จีนสามารถทวนกระแสเร่งความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาคแพนอ่าวเป่ยปู้ให้เร็วขึ้นได้ ก็เพราะว่าจีนกับอาเซียนมีความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มความร่วมมือให้มากขึ้น นางเซวีย ฮั่นฉิน เอกอัครราชทูตจีนประจำอาเซียนกล่าวว่า
 
"เบื้องหน้าวิกฤตการเงินโลกที่กำลังลุกลาม ความตั้งใจของรัฐบาลจีนในการส่งเสริมความร่วมมือกับอาเซียนไม่ได้เปลี่ยน"
 
นับตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว รัฐบาลจีนริเริ่มโครงการนำร่องใช้สกุลเงินหยวนในการซื้อขายสินค้ากับอาเซียน ลงนามข้อตกลงว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเงินตราทวิภาคีกับอินโดนีเซียเป็นวงเงิน 1.1 แสนล้านหยวน และกับมาเลเซียเป็นวงเงิน 8 หมื่นล้านหยวน
 
สถิติระบุว่า แม้ว่าได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลกก็ตาม แต่ยอดการค้าระหว่างจีนกับประเทศในแพนอ่าวเป่ยปู้เมื่อปี 2008 ยังคงมีมากถึง 226,960 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 98.2 ของยอดการค้าจีน-อาเซียน เมื่อเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนสร้างแล้วเสร็จ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคแพนอ่าวเป่ยปู้ก็จะพัฒนาเป็นขั้วเติบโตใหม่ของเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องกระชับความร่วมมือทางการเงินในแพนอ่าวเป่ยปู้ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นโดยเร็ว
 
ในความเป็นจริง สถาบันการเงินต่างๆ ของจีน เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งชาติจีน ธนาคาร ICBC ธนาคาร CCB และธนาคารABC ได้เร่งเปิดสาขาในประเทศแพนอ่าวเป่ยปู้ให้เร็วขึ้น ส่วนสถาบันการเงินของประเทศอื่นๆ ในแพนอ่าวเป่ยปู้ เช่น ธนาคาร DBS ของสิงคโปร์ และ ธนาคาร Sacombank ของเวียดนามก็เข้ามาเปิดสาขาที่เมืองหนานหนิงของจีนแล้ว
 

ขอแนะนำให้คุณอ่าน

ช่องแนะนำ

ด้านบน คิดเห็น