เสฉวนคืนสู่ความสดใสหลังแผ่นดินไหว 2 ปี
 การเผยแพร่:2010-05-13 16:37:25   ดูความถี่:0 แหล่ง:CRI

วันนี้วันที่ 12 พฤษภาคมปี 2010 แผ่นดินไหวร้ายแรงเวิ่นชวนมณฑลเสฉวนผ่านไปครบ 2 ปีแล้ว ประชาชนผู้ประสบภัยกำลังใช้ความพยายามและสติปัญญาของตนในการสร้างบ้านใหม่

เมื่อเวลา 14.28 น. วันที่ 12 พฤษภาคมปี 2008 อำเภอเวิ่นชวนมณฑลเสฉวนทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนเกิดแผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงขนาด 8.0 ริกเตอร์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 69,227 คน หายสาบสูญ 17,923คน ความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยตรงกว่า 845,100 ล้านหยวน

เมื่อเผชิญภัยพิบัติครั้งร้ายแรง ชาวจีนทั่วประเทศต่างร่วมแรงร่วมใจกันอย่างสุดกำลัง เพื่อขจัดความยากลำบาก" 19 มณฑลและเมืองที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจมั่นคั่ง ได้จับคู่ช่วยเหลือเมืองและอำเภอที่ประสบภัย ทำให้งานฟื้นฟูบูรณะดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพสูง จนถึงขณะนี้ ในโครงการบูรณะฟื้นฟูระดับชาติทั้งหมดกว่า 29,000 โครงการนั้น กว่า 97% ได้เริ่มขึ้นแล้ว ได้ใช้งบประมาณ 660,000 ล้านหยวน คิดเป็น 70% ของยอดการลงทุน

การสร้างบ้านเป็นโครงการสำคัญอันดับแรก หลัง 2 ปีที่เกิดภัยแผ่นดินไหวแล้ว ได้สร้างบ้านในชนบทกว่า 1,450,000 ชุดและบ้านในเมืองกว่า 250,000 ชุดตามมาตรฐานการต้านแผ่นดินไหว นายหยางฟู่กุ้ยเกษตรกรหมู่บ้านเสียนหลางเมืองเหมียนหยางได้สร้างบ้านใหม่พื้นที่ 120 ตารางเมตร โดยทางการท้องถิ่นให้เงินอุดหนุน 40,000 หยวน นอกนั้นเป็นรายได้ที่ได้มาหลังเกิดภัยแผ่นดินไหว เขากล่าวว่า

"ที่นี่กำลังเร่งงานบูรณะฟื้นฟูอยู่ ขาดแคลนแรงงาน เราไปทำงาน จะได้เงินเดือนที่ค่อนข้างดี ปีที่แล้ว ผมทำงานก่อสร้างได้เงินเดือนรวมประมาณ 60,000 หยวน"

ระหว่างการบูรณะฟื้นฟู วิสาหกิจสำคัญและโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่จำนวนมากได้สร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้งาน จึงต้องการแรงงานมากมาย ปี 2009 รายได้เฉลี่ยของชาวเมืองและเกษตรกรของอำเภอและเมืองที่ประสบภัยค่อนข้างร้ายแรง 51 แห่ง ล้วนสูงกว่าช่วงก่อนเกิดภัยแผ่นดินไหว นายเยี่ยจ้วง อธิบดีกรมทรัพยากรแรงงานและประกันสังคมกล่าวว่า

"ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดสรรงบประมาณกว่า 1,700 ล้านหยวนเพื่อช่วยประชาชนหางานทำ แจกจ่ายเงินประกันการว่างงานกว่า 700 ล้านหยวน จัดตลาดนัดแรงงานกว่า 1,000 รอบ จัดฝึกอบรมเทคนิคการทำงานแก่ประชาชนเกือบ 900,000 คน ช่วยให้ประชาชนเขตประสบภัยเกือบ 1,600,000 คนมีงานทำ"

หลังเกิดแผ่นดินไหวแล้ว มณฑลเสฉวนกำหนดแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวเป็นอันดับแรก นอกจากนั้น การพัฒนาภาคเกษตรกรรมที่ป็นแบบอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการประกอบธุรกิจที่มีเอกลักษณ์พิเศษของท้องถิ่น ได้กลายเป็นวิถีทางสู่ความมั่งคั่งของเกษตรกร การปลูกเชอร์รีของอำเภอเวิ่นชวน การปลูกใบชาของอำเภอหย่าอันและภาพวาดพื้นเมืองของเมืองเหมียนจู๋ ล้วนทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น

ตำบลส่วยโม่ของอำเภอเวิ่นชวนได้รับการบูรณะและสร้างให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีเอกลัษณ์ของชนเผ่าเชียง นายหย่วนสวยฉัยชาวบ้านได้ถือโอกาสนี้ นำอาหารพื้นเมืองที่มีชื่อ "จิ่วต้าหว่าน"มาตั้งขายในร้านที่อยู่ริมถนน เปิดร้านเพียง 1 เดือนเศษ ก็ได้กำไรสุทธิกว่า 10,000 หยวน
 

ขอแนะนำให้คุณอ่าน

ช่องแนะนำ

ด้านบน คิดเห็น