นายกรัฐมนตรีตุรกีเยือนกรีซ สื่อมวลชนของสองประเทศมีท่าทีต่างกัน
 การเผยแพร่:2010-05-18 11:38:38   ดูความถี่:0 แหล่ง:CRI

เมื่อเร็วๆ นี้ นายรีเซพ ทายยิบ เออร์โดกัน นายกรัฐมนตรีตุรกีสิ้นสุดการเยือนกรีซเป็นเวลาสองวัน สื่อมวลชนของสองประเทศประเมินผลการเยือนต่างกัน โดยสื่อมวลชนตุรกีรายงานว่า การเยือนครั้งนี้เป็น "การเยือนเชิงประวัติศาสตร์" และเป็น "หน้าใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ" ส่วนสื่อมวลชนกรีซรายงานว่า ผู้นำสองประเทศเพียงแต่มีความรับรู้ร่วมกันใน "ประเด็นประจำ" เท่านั้น ไม่มีความก้าวหน้าที่แท้จริงด้านความสัมพันธ์ทวิภาคี

ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่นายเออร์โดกันเยือนกรีซในรอบ 6 ปี คณะผู้แทนที่มีสมาชิกจำนวนมากถึง 320 คน ซึ่งรวมถึงรัฐมนตรี 10 คน และนักธุรกิจกว่า 100 คน เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม นายคาโรลอส ปาปูลิอัส ประธานาธิบดีกรีซ และนายจอร์จ ปาปันเดรอู นายกรัฐมนตรีกรีซต่างได้พบปะกับนายรีเซพ ทายยิบ เออร์โดกัน นายกรัฐมนตรีตุรกี สองฝ่ายต่างกล่าวว่า การเยือนครั้งนี้มีความหมาย "เชิงประวัติศาสตร์" และมุ่งหวังให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมีความก้าวหน้า วันเดียวกัน นายเออร์โดกัน และนายปาปันเดรอู ยังได้เข้าร่วมพิธีเปิดประชุมคณะกรรมการความร่วมมือยุทธศาสตร์ระหว่างผู้นำระดับสูงของสองประเทศ และลงนามในบันทึกช่วยจำด้านความร่วมมือ 22 ฉบับ ซึ่งคลอบคลุมวงการเศรษฐกิจ พลังงาน การท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม เป็นต้น

สื่อมวลชนสำคัญของตุรกีต่างให้ความสนใจอย่างมากในการเยือนครั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา สำนักข่าวอานาโดลูของตุรกีลงพิมพ์บทความหัวข้อ "ส่งสัญญาณสันติภาพต่อโลก" โดยได้รายงานถึงบันทึกช่วยจำ 22 ฉบับดังกล่าว ซึ่งระบุว่า ตุรกีจะยื่นหนังสือขอเป็นเจ้าภาพงานกีฬาโอลิมปิกปี 2020 ครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามใน "สนธิสัญญาว่าด้วยการหยุดยิงในช่วงงานกีฬาโอลิมปิก" อันเป็นการบ่งบอกว่า ทั้งสองประเทศได้ส่งสัญญาณสันติภาพต่อโลก หนังสือพิมพ์ซามานรายงานว่า การเยือนของนายรีเซพ ทายยิบ เออร์โดกันได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากประชาชนตุรกีและกรีซ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี คาดว่า ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศจะพัฒนาเป็นความสัมพันธ์ฉันหุ้นส่วน

แต่ท่าทีของสื่อมวลชนกรีซกลับค่อนข้างสงบนิ่ง หนังสือพิมพ์แคธิเมอรินี เห็นว่า การลงนามในสนธิสัญญาหลายฉบับนับเป็นผลงานของการเยือนครั้งนี้ แต่ทั้งสองฝ่ายเพียงมีความรับรู้ร่วมกันใน "ประเด็นประจำ" ด้านความสัมพันธ์ระหว่างกันเท่านั้น ความฝันยิ่งใหญ่ของชาวกรีซบางคนอาจจะพังทลาย วันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์วีมาของทางการกรีซลงพิมพ์บทความหัวข้อ "การเรียกร้องภายหลังรอยยิ้ม" ว่า นายรีเซพ ทายยิบ เออร์โดกัน นายกรัฐมนตรีตุรกีเสนอข้อเรียกร้องหลายประการในช่วงการเยือน อาทิ การสร้างฐานทัพเครื่องบินรบที่ทะเลอีเจียน ชาวมุสลิมที่อยู่ในภาคเหนือของกรีซมีสิทธิประโยชน์ที่เท่าเทียมกัน และอุทธรณ์ปัญหาการแบ่งไหล่ทวีปต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศที่กรุงเฮก ข้อเรียกร้องดังกล่าวยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ แต่นายจอร์จ ปาปันเดรอู นายกรัฐมนตรีกรีซเลือกที่จะหลีกเลี่ยงปัญหา นักวิเคราะห์จึงเห็นว่า ยังต้องใช้เวลานานจึงจะปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างกันได้
 

ขอแนะนำให้คุณอ่าน

ช่องแนะนำ

ด้านบน คิดเห็น