ไทยศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งศูนย์วิจัยที่ปักกิ่ง: เพิ่มความร่วมมือด้านวิทย์กับจีน
 การเผยแพร่:2016-06-21 15:04:44   ดูความถี่:0 แหล่ง:CRI

กรุงเทพฯ – เมื่อกล่าวถึงผู้นำทางด้านวิทยาศาสตร์สำหรับประเทศในเขตภูมิภาคเอเชีย แน่นอนว่าต้องมีประเทศในเอเชียตะวันออก อย่าง จีน เกาหลี ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับต้นๆ เมื่อมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ไทยเองก็มีนักเรียนและผู้มีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่ไม่น้อย จะดีแค่ไหนหากเขาเหล่านั้นได้รับโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลและแลกเปลี่ยนความรู้ความสามารถกับประเทศที่เป็นศูนย์รวมแห่งความรู้ด้านวิทยาศาสตร์อย่างเช่นประเทศจีน

กิจกรรม "ไทย-จีน 4 ทศวรรษความสัมพันธ์ จากการค้าและวัฒนธรรมสู่เทคโนโลยีและนวัตกรรม" ที่จัดขึ้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2559 ณ ห้องออดิทอเรี่ยม อาคารซีพีออลล์ อะคาเดมี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เริ่มกล่าวรายงานโดย ดร.พิษณุ เหรียญมหาสาร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และที่ปรึกษาด้านการศึกษา สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และมีนายสมชาย เทียมบุญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นประธานกล่าวเปิดงาน

ในช่วงเช้าเป็นการนำเสนอผลงาน "โครงการจัดทำข้อเสนอแนะยุทธศาสตร์การดำเนินงานของสำนักงานที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ กรุงปักกิ่ง" ซึ่งเป็นงานของคณะวิจัยจากศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ นำโดยศ.ดร. ทัง จื้อหมิ่น ผู้อำนวยการศูนย์ฯ และนางสาวอรสา รัตนอมรภิรมย์ ผู้ช่วยผอ. วัตถุประสงค์หลักของงานวิจัยฉบับนี้คือการทำความเข้าใจกับสถานการณ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปัจจุบันของจีน ศึกษาความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ของจีนและไทย สอบถามและเรียนรู้ความต้องการและความคิดเห็นของแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องหากมีการตั้งศูนย์ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ขึ้นที่กรุงปักกิ่ง และออกแบบโครงสร้าง ระบบการใช้งานต่างๆของศูนย์ที่ต้องการ

ช่วงบ่ายเป็นการเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองและข้อมูลภายใต้หัวข้อ "อนาคตความสัมพันธ์ไทย-จีน ก้าวไกลด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" ช่วงนี้เต็มไปด้วยความรู้ และความหลากหลายน่าสนใจ เพราะได้วิทยากร 4 ท่านได้แก่

1.ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาอาวุโสและรองประธานคณะกก.เทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถึงปัจจุบันไทยมีนักเรียนที่รับทุนของโครงการไปเรียนด้านวิทยาศาสตร์ที่สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์ประเทศจีน (CAS) ทั้งหมด 20 คน กลับมาทำงานใช้ทุนแล้ว 5 คน โดยสถาบันในเครือของ CAS ได้เซ็นต์ MOU กับสถาบันวิจัยหรือมหาวิทยาลัยของไทยทั้งหมด 8 แห่ง, ไทยมีกล้องดูดาวอยู่ที่หอดูดาว เกาเหมยกู่ โดยความร่วมมือของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติของไทย (NARIT) และYunnan Observatories และโครงการวิจัยในขั้วโลกใต้ ดินแดนที่หนาวเย็นปราศจากมนุษย์ที่นักวิทยาศาสตร์หลายชาติใฝ่ฝันจะไปค้นคว้าวิจัยที่นั่น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีนับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้เดินทางไปยังทวีปแอนตาร์กติก ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือบันทึกการเดินทาง ไทยกับจีนมีการลงนามความร่วมมือเรื่องขั้วโลกใต้ มีนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของไทยได้เดินทางไปที่นั่นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2557 จนถึงปีนี้นับเป็นรุ่นที่ 3 แล้ว

2.นายเฉา โจวหวา ผู้ช่วยทูตด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย เล่าให้ฟังถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานในความร่วมมือและแลกเปลี่ยนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างจีนกับไทย ซึ่งถ้ามองกันจริงๆแล้วต้องย้อนไปถึงสมัยเจิ้งเหอล่องเรือเลยทีเดียว จากแผนพัฒนาฯของประเทศมีความชัดเจนว่าในปีค.ศ. 2020 จีนตั้งเป้าให้ตนเองเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม อีก 10ปีต่อมาจะเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมในระดับนานาชาติ และพอถึงค.ศ. 2050 จีนจะกลายเป็นศูนย์รวมด้านความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโลก

3.ดร.เศรษฐพันธ์ กระจ่างวงษ์ ผอ.ส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศ3 สำนักความร่วมมือระหว่างประเทศและวิเทศสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่าทางกระทรวงฯมีการตั้งสำนักงานที่ปรึกษาฯในต่างประเทศทั้งหมด 3 แห่ง คือ กรุงวอชิงตันดีซี สหรัฐอเมริกา, กรุงบรัสเซลส์ เบลเยี่ยม และกรุงโตเกียว ญี่ปุ่น ก่อนจะต้องปิดสำนักงาน ณ กรุงโตเกียวเนื่องปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในปีพ.ศ. 2533 เท่ากับว่าตอนนี้ไทยไม่มีสำนักงานที่ปรึกษาฯด้านวิทยาศาสตร์ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเลย ทั้งที่ภูมิภาคนี้มีความสำคัญต่อไทยมากในแง่การเมือง เศรษฐกิจ และวิทยาศาสตร์ การจัดตั้งศูนย์ฯที่ประเทศจีนจะทำให้ไทยมีโอกาสได้เรียนรู้โดยเฉพาะด้านที่จีนก้าวหน้าอย่างมาก เช่น ด้านอวกาศและโทรคมนาคม, นวัตกรรม, พลังงาน, โครงสร้างพื้นฐาน, คมนาคมขนส่ง, การแพทย์ทั้งแผนปัจจุบันและแผนจีน รวมถึงการจัดการภัยพิบัติ แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงด้านมิติความสัมพันธ์ คงไม่ใช่มีแต่การไปรับข้อมูลจากเขา แต่เราก็ต้องมีแลกเปลี่ยน ซึ่งที่กล่าวมีหลายด้านที่ไทยเองก็มีความเชี่ยวชาญ อาทิ แพทย์แผนไทย นอกจากนี้ ดร. เศรษฐพันธ์ยังได้สนับสนุนให้นักเรียนไทยเรียนภาษาจีนควบคู่ไปกับวิชาวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่แค่ภาษาจีนในชีวิตประจำวันอีกต่อไป เพื่อการเรียนรู้ที่ลึกกว่าและโอกาสที่มากกว่าอีกขั้น

และปิดท้ายด้วยตัวแทนความเห็นจากฝั่งเอกชน (4.) ดร. เขมทัต สุคนธสิงห์ ประธานกรรมการบริษัทสิขรจำกัด ซึ่งเป็นบ.ผลิตรถไฟฟ้าและอุปกรณ์รถไฟฟ้า หัวรถจักรและตู้ขนส่งทางรถไฟหรือรถราง วิเคราะห์สถานการณ์โลกปัจจุบันว่า การจะผลิตสินค้าขึ้นมาสักชิ้น ทางยุโรปมีความคิดแบบสมบูรณ์แบบในขณะที่จีนมีความคิดแบบ "แค่ดีพอใช้" (Just Good Enough) ซึ่งความคิดแบบที่สองนี้ค่อนข้างจะเข้ากับยุคนี้ที่คนเราบริโภคกันจนเกินความจำเป็น โลกร้อนขึ้น สภาพการใช้ชีวิตก็เปลี่ยนแปลงไป ความคิดที่จะผลิตของใช้ให้มีอายุการใช้งานทนนานเป็นสิบๆปีเริ่มไม่เข้ากับวิถีชีวิตชาวโลกที่มีแนวโน้มจะเปลี่ยนมือถือปีละเครื่อง ถ้าเราร่วมมือกับจีนร่วมสร้างความสมดุล โดยเฉพาะตลาดผู้บริโภคไทยมีความโดนเด่นแบบ "รายได้ต่ำ รสนิยมสูง" หรือเรียกง่ายๆว่ามีมาตรฐานการยอมรับสินค้าค่อนข้างดีในราคาที่ไม่แพง นั่นหมายความว่าหากสินค้าที่ผลิตออกมาได้รับการยอมรับในไทยก็แทบจะเป็นการรับรองกลายๆแล้วว่าสามารถนำขายได้ในตลาดอื่นๆ ในความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับจีนนั้น ถ้าเราไม่แย่งตลาดกัน ร่วมมือกันสร้างตลาด แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ สร้างห่วงโซ่คุณค่า กำหนดตำแหน่งของผู้ประกอบการของแต่ละประเภทผลิตภัณฑ์ ผนวกกับความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาของทั้งภาครัฐและเอกชน ดร.เขมทัตเชื่อว่าความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นแบบ win-win หรือทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์อย่างแน่นอน


ขอแนะนำให้คุณอ่าน

ช่องแนะนำ

ด้านบน คิดเห็น