“กุยหลิงเกา” สมุนไพรขับร้อนแก้พิษช่วงหน้าร้อน
 การเผยแพร่:2022-07-28 16:59:31   ดูความถี่:0 แหล่ง:CRI

เมื่อพูดถึงจีน ในแง่ภูมิประเทศอาจจะรู้สึกว่าไม่ใช่เมืองร้อน ทว่าอาณาจักรจีนกว้างใหญ่ไพศาล พื้นที่ราว 9,600,000 ตารางกิโลเมตร หลายพื้นที่อุณหภูมิจะสูงมากในฤดูร้อน จะร้อนทั้ง 4 ทิศตะวันออก-ตะวันตก-เหนือ-ใต้ก็ว่าได้ ตั้งแต่เขตปกครองตนเองอุยกูร์ซินเจียงถึงกรุงปักกิ่ง ตั้งแต่เขตมองโกเลียในถึงมณฑลไห่หนาน

เมื่อแดดร้อนจัด ร้อนระอุ วิธีคลายร้อนก็มีมากมาย เช่น สาดน้ำลงพื้น โบกพัดในมือ นั่งใต้ร่มไม้ ล้างหน้า ซับเหงื่อด้วยผ้า อาบน้ำบ่อยๆ รวมไปถึงรับประทานอาหารที่ช่วยคลายร้อน ซึ่งมีสารพัดอย่าง ตามพื้นที่ต่างๆ ของจีน

\

“กุยหลิงเกา” (龟苓膏, Guilinggao) หรือ Guiling Jelly เป็นของดีอร่อยช่วยคลายร้อนที่นิยมกันมากในทางภาคใต้ของจีนมาหลายร้อยปี เช่น เขตปกครองตนเองชนเผ่าจ้วงกว่างซี มณฑลกว่างตง เขตบริหารพิเศษฮ่องกง และเขตบริหารพิเศษมาเก๊า ปีหลังๆ นี้ “กุยหลิงเกา” ยังเผยแพร่สู่ทางภาคเหนือของจีนด้วย เช่น ที่กรุงปักกิ่ง ก็ขายดิบขายดีในช่วงหน้าร้อน

สำหรับความเป็นมาของ “กุยหลิงเกา” นั้น เล่ากันว่าเป็นอาหารยาพื้นบ้านของเมืองอู๋โจว (梧州) เขตปกครองตนเองชนเผ่าจ้วงกว่างซี มีประวัติมายาวนานหลายร้อยปี เป็นของขึ้นชื่อ จึงจัดเป็นของจิ้มก้องของถวายฮ่องเต้สมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911) นอกจากนี้ ยังมีการจำหน่ายไปยังต่างประเทศด้วย ปัจจุบันเป็นอาหารว่างยอดนิยม ขายคล่องตลาดทั้งในจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

\

——สูตรตำรับ “กุยหลิงเกา”

“กุยหลิงเกา” ทำจากสมุนไพรจีนหลายตัวหรือสิบกว่ายี่สิบตัว ประกอบกับเต่า ซึ่งเป็นสัตว์ แต่ละยี่ห้อ แต่ละเจ้าอาจจะไม่ค่อยเหมือนกัน เช่น บางเจ้าจะประกอบด้วยเต่าและสมุนไพร 6 ตัว ดังนี้

เต่า (ปลอดจากเครื่องใน), ตี้หวง (Rehmannia ), ถู่ฝูหลิง (Smilax glabra Roxb.), เหมียนอินเฉิน (Artemisia capillaris) จินอิ๋นฮวา (honeysuckle) กานเฉ่า (licorice ), หั่วหมาเหริน (hemp seed )

ทั้งนี้น่าจะเป็นที่มาของชื่อ “กุยหลิงเกา” (龟苓膏) คือ “กุย” (龟) หมายถึง “เต่า” ส่วน “หลิง” (苓) หมายถึง “ถู่ฝูหลิง (Smilax glabra Roxb.)” ซึ่งเป็นสมุนไพร มีสรรพคุณในการแก้ร้อนในและขับพิษ รวมกันแล้ว   “กุยหลิงเกา” หมายถึง ยาที่เป็นลักษณะเป็นไขหรือเป็นครีมที่ทำจากเต่าและสมุนไพรถู่ฝูหลิงเป็นหลัก

“กุยหลิงเกา” มีสารอาหารสมุนไพรเป็นหลัก เมื่อต้มแล้วเป็นไขเป็นครีม จึงเป็นสีดำหรือสีน้ำตาลข้น เวลารับประทานจะรู้สึกถึงกลิ่นสมุนไพร รสขมนิดหน่อย ลื่น แต่จะไม่ค่อยมีกลิ่นเต่ามากเท่าไร (TIM/LING)


ขอแนะนำให้คุณอ่าน

ช่องแนะนำ

ด้านบน คิดเห็น