สรุปสถานการณ์หลังจีนผ่อนคลายโควิด และส่งผลอย่างไรต่อวงการเที่ยวไทย?
 การเผยแพร่:2023-01-18 15:26:33   ดูความถี่:0 แหล่ง:CMG

\

ผู้เขียน: อาจารย์ภากร กัทชลี อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเจ้าของเพจอ้ายจง

นับตั้งแต่จีนประกาศผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2565 และเปิดพรมแดน อนุญาตให้มีการเดินทางเข้า-ออกจีนอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงหลังจากที่จีนใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อป้องกันและควบคุมโควิด-19 เป็นระยะเวลากว่า 3 ปี  ทั่วโลกต่างก็จับตามองว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศจีนจะเป็นอย่างไรต่อไป รวมถึงประเด็นเศรษฐกิจ ทั้งนี้หนึ่งในเหตุผลที่ทางการจีนปรับมาตรการโควิด-19 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเป็นไปในตามหลักวิทยาศาสตร์ ดังที่ปรากฏในการรายงานการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 เมื่อตุลาคม 2565 ที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน กล่าวถึงการปรับมาตรการโควิดให้สมดุลกับสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมจีน ซึ่งข้อนี้ เป็นข้อสังเกตถึงการปรับผ่อนคลายมาตรการโควิดจีน “มีการส่งสัญญาณมาก่อนที่จะปรับ” 

โดยเราสามารถสรุปสถานการณ์หลังผ่อนคลายโควิด-19 หลังผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 และเปิดให้มีการเดินทางระหว่างประเทศอีกครั้ง ดังนี้ 

1. ทางคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน (NHC) ซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากระทรวง ประกาศตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 อย่างเป็นทางการ ในช่วงระหว่างวันที่ 8 ธันวาคม 2565 ถึง 12 มกราคม 2566 โดยเป็นช่วงที่จีนปรับมาตรการผ่อนคลายโควิด-19 โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 59,938 ราย ในโรงพยาบาลและสถานพยาบาลทั่วจีน โดยทางจีนได้ใช้หลักการที่ระบุว่า เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) คือ แบ่งการเสียชีวิตเป็น ภาวะหายใจล้มเหลวจากการติดเชื้อโควิด-19 และ เสียชีวิตจากโรคอื่นที่มีการติดเชื้อโควิด-19 ร่วมด้วย โดยมีตัวเลข 5,503 ราย และ 54,435 ราย ตามลำดับ

80.3 ปี คือ อายุเฉลี่ยของผู้เสียชีวิต ซึ่งก็เป็นไปตามข้อกังวลของทางการจีนที่มีมาโดยตลอด ทางจีนจึงพยายามรณรงค์ให้ผู้สูงอายุ ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดโดยเร็ว ควบคู่ไปกับการเพิ่มจำนวนคลินิกและยาในการรักษาอาการของโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ที่ทางการจีนระบุ "ส่วนใหญ่เป็นอาการไข้ หวัด ไอ และเจ็บคอ เป็นต้น"

2.จีนเผย "จุดพีค" ของการระบาดในแง่จำนวนผู้ป่วยหนัก และผู้ป่วยที่ต้องรักษาในโรงพยาบาล ผ่านพ้นไปแล้ว เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2566 ด้วยจำนวน 128,000 ราย และเริ่มลดลงมาแตะระดับใกล้ 100,000 

3.จีนเตรียมพร้อมรับมือ สำหรับตรุษจีนที่กำลังจะมาถึง โดยมีเป้าหมายสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนในการออกเดินทางช่วงเทศกาล ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการเดินทางกลับไปรวมตัวในครอบครัว แต่ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งจากการท่องเที่ยวและอุปโภคบริโภคอีกด้วย จึงได้เห็นจีนเดินหน้าอย่างต่อเนื่องในหนทางผ่อนคลายโควิด และสื่อสารออกมาในแนวทาง มั่นใจ รับมือได้ เพราะปีนี้ เป้าหมายการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เป็นเป้าสำคัญของแดนมังกร

โดยการเตรียมพร้อมรับมือของจีน มีทั้งการเพิ่มปริมาณการผลิตยาที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโควิดโอไมครอน ทั้งยารักษาตามอาการ และยารักษาโควิด-19 โดยตรง ซึ่งมีการปรับปรุงบัญชียาประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเพิ่มรายการยาต่างๆ ในการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย โดยในรายการดังกล่าว มียา Azvudine ยารักษาโควิด-19 ผลิตในจีน และ ชิงเฟ่ย ผายตู๋ ยาต้มแผนโบราณของจีน  และถึงแม้ว่าจีนจะไม่ได้รวม ยา Paxlovid ของทาง Pfizer เข้าไปในรายการยาประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยให้เหตุผลเรื่องของราคาที่สูง แต่จีนก็อนุญาตให้ผู้ป่วยสามารถเบิกค่าประกันสุขภาพ หากได้รับการสั่งยา Paxlovid ซึ่งครอบคลุมถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2566 ช่วงเวลาที่สิ้นสุด ช่วงเวลาอันตรายในการเฝ้าระวังการระบาดหนัก หลังเทศกาลตรุษจีน และฤดูหนาวเริ่มผ่านพ้นไป

ไม่ใช่แค่การเตรียมพร้อมเรื่องยา จีนยังได้เตรียมพร้อมขีดความสามารถในการรักษาพยาบาลและการเตรียมเวชภัณฑ์อื่นๆ อย่างเช่น การจัดส่งเครื่องวัดออกซิเจนในเลือดมากกว่า 1 ล้านเครื่อง ไปยังคลินิก-สถานพยาบาลประจำหมู่บ้านทั่วประเทศจีน ในช่วงตรุษจีน ที่มวลชนจำนวนมากเดินทางกลับภูมิลำเนาของตน 

การเพิ่มจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ และการเชื่อมโยงบริการการแพทย์ตลอด 24 ชั่วโมง ระหว่างโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ในระดับที่สาม ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีจำนวนเตียงและบริการทางการแพทย์ครบวงจรที่สุด กับโรงพยาบาลขนาดเล็ก เช่น โรงพยาบาลชุมชนและระดับอำเภอ รวมถึงพื้นที่ต่างจังหวัด-พื้นที่ห่างไกล ยังเป็นมาตรการที่จีนนำมาปรับใช้เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่อาจเพิ่มสูงขึ้นช่วงเทศกาล

4. ก่อนจีนปิดประเทศกว่า 3 ปี เพราะการระบาดของโควิด-19 นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางไปยังต่างประเทศมีจำนวนมากที่สุดในโลก  ในปี 2561 มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางออกนอกประเทศเกือบ 150 ล้านคน  และจากข้อมูลขององค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ ในปี 2562 นักท่องเที่ยวชาวจีนใช้จ่ายไปต่างประเทศราว 2.55 แสนล้านดอลลาร์

โดยประเทศในแถบอาเซียนเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางหลักที่นักท่องเที่ยวจีนเดินทางไปท่องเที่ยวในช่วงก่อนโควิด-19  และยังเป็นคู่ค้าสำคัญทางการค้าและการลงทุนอีกด้วย

เฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย เห็นผลกระทบอย่างชัดเจนเมื่อจีนปิดประเทศ โดยปี 2563 ไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ถึง 7 ล้านคน ลดลงมากกว่า 80% จากช่วงปี 2562 ก่อนโควิดระบาดหนัก

ดังนั้น การเปิดพรมแดนเข้าออกจีนและอนุญาตให้คนจีนเดินทางไปต่างประเทศด้วยจุดประสงค์ท่องเที่ยวได้อีกครั้ง ทางการจีนและสื่อจีนต่างๆ จึงระบุว่า “การปรับมาตรการโควิดของจีน ไม่เพียงส่งผลต่อเศรษฐกิจจีน แต่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกด้วย อย่างเช่นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว”

เมื่อเปิดให้คนจีนเดินทางออกนอกประเทศได้ ประเทศต่างๆในอาเซียน ซึ่งเคยมีนักท่องเที่ยวจีนเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลัก รวมถึงประเทศไทย มีการเปิดรับอย่างเต็มที่ 

ในกรณีของประเทศไทย มีการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่โดยระดับผู้นำระดับสูงในคณะรัฐบาล ทั้งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับการให้สัมภาษณ์ของผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ที่ให้สัมภาษณ์ถึงการพยายามเรียนรู้และฝึกพูดภาษาจีน พร้อมกล่าวภาษาจีนที่มีความหมายว่า “จีนไทยพี่น้องกัน” จนกลายเป็นกระแสในโลกสังคมออนไลน์จีน และมีการกล่าวถึงโดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนในการแถลงเกี่ยวกับการเปิดรับนักท่องเที่ยวจีนของประเทศต่างๆ ซึ่งมองว่า เป็นการแสดงความเป็นมิตรต่อคนจีน และจะมีการเปิดเที่ยวบินระหว่างจีนไปยังไทย และอาเซียนเพิ่มมากขึ้น 

จากที่กล่าวข้างต้น จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย เพราะแนวโน้มที่นักท่องเที่ยวจีนจะเดินทางมาไทยเป็นไปในเชิงบวก ซึ่งถ้าพิจารณาจากญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มีการจำกัดการเดินทางของคนจีน และจีนมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ พร้อมทั้งตอบโต้ด้วยการระงับการออกวีซ่าระยะสั้นแก่พลเมืองญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีการยกเลิกการจำกัดเดินทางเข้าประเทศของพลเมืองจีน  ก็ยิ่งเป็นแนวโน้มเชิงบวกต่อประเทศไทย และอาเซียน ที่ไม่มีการมาตรการจำกัดดังกล่าว

อีกหนึ่งโอกาสของการท่องเที่ยวและผู้ประกอบการในไทย คือ นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทย เป็นนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มมีคุณภาพกลางค่อนสูง และมีกำลังซื้อ เนื่องจากแม้จีนจะเปิดให้เดินทางออกนอกประเทศได้ ทว่าในช่วงแรกยังคงมีข้อจำกัดอยู่มากทีเดียว อย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทาง จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า สูงกว่าช่วงเวลาปกติก่อนการระบาดหนัก ราว 2 เท่า 

ดังนั้น นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้าไทยเป็นชุดแรกๆ จึงเป็นกลุ่มที่พร้อมออกเดินทางต่างประเทศ และมีพฤติกรรมแบบ “Revenge Tourism” หรือเที่ยวหนำใจ เที่ยวล้างแค้น ดังที่เกิดขึ้นในการท่องเที่ยวภายในประเทศจีนในช่วงปี 2565 ที่ผ่านมา โดยเป็นการท่องเที่ยวและใช้จ่าย หลังจากที่มีข้อจำกัดด้วยมาตรการโควิดเป็นเวลานาน เรียกว่า แค้นการระบาด และต้องอดทนอดกลั้นไม่ได้ออกไปเที่ยวมาเป็นเวลาขณะหนึ่ง

ซึ่งเทรนด์การท่องเที่ยว “เที่ยวธรรมชาติ” ที่ได้เห็นในการท่องเที่ยวในประเทศจีน เพิ่มขึ้นกว่า 60% ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ Gen Z มีความเป็นไปได้ที่จะส่งผลมายังการท่องเที่ยวต่างประเทศ และประเทศไทย ประเทศที่มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติอันหลากหลายที่คนจีนเองก็นิยมอยู่แล้ว อย่างทะเลและภูเขา

คนจีนที่เดินทางออกมาเที่ยวช่วงนี้ อาจไม่ได้มีจุดประสงค์แค่ท่องเที่ยวอย่างเดียว เช่น การดูลู่ทางการค้า การลงทุน และเป็นไปได้ถึงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีศักยภาพในการดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน เพราะอีกแง่หนึ่ง กลุ่มที่เดินทางออกจากจีนเป็นกลุ่มแรกๆ จำนวนมาก เป็นกลุ่ม “阳康” หรือ หยางคัง  อันหมายถึงผู้ที่หายจากการติดโควิดแล้ว ซึ่งไม่น้อยยังคงมีความกังวลต่อเรื่องสุขภาพของตน ทำให้การตรวจเช็คร่างกาย การพักฟื้น การผ่อนคลายกายใจหลังวิกฤติระบาด สามารถเป็นบริการในสายท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ตอบโจทย์ได้ 

โดยช่วงก่อนการระบาด ประเทศไทยก็มีการเติบโตของตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และนักท่องเที่ยวจีนเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักเช่นกัน ทั้งในการเข้ามาใช้บริการการแพทย์และท่องเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวในไทยที่ครองใจพวกเขา และหากดูข้อมูลจาก Global Wellness Institute ที่แสดงให้เห็นถึงเม็ดเงินหลักแสนล้านบาทไหลเข้ามาในตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย ในปี 2563 แม้จะเกิดโรคระบาด ยิ่งทำให้เห็นถึงศักยภาพของไทยที่สามารถลุยต่อได้ ณ เวลานี้ ที่กลุ่มนักท่องเที่ยวหลักเริ่มกลับมา 

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคและข้อควรระวัง ที่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้าม คือ ต้องยอมรับว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดทั้งในจีน ในไทย และทั่วโลก ยังคงต้องจับตามองและความไม่แน่นอนยังสูง ทางผู้ประกอบการจึงต้องมีแผนรับมือ โดยไม่อิงไปยังนักท่องเที่ยวกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจนเกินไปดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อก่อนโควิด-19 กล่าวคือ มีผู้ประกอบการในย่านท่องเที่ยวชื่อดังของไทย จัดทำธุรกิจเพื่ออิงกับนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลักแบบ 100% จนทำให้คนไทย คนในท้องถิ่นเอง รู้สึกถึง  รู้สึกถึง “การขาดความเป็นไทย” ของธุรกิจเหล่านั้น และไม่กล้าเข้าใช้บริการ ด้วยเหตุนี้ เมื่อเกิดวิกฤติการระบาดโควิด-19 นักท่องเที่ยวจีน นักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่สามารถเดินทางมาไทยได้ หรือมาได้น้อยลง ธุรกิจดังที่กล่าวมา จึงล้มหายตายจากจำนวนมาก 

โดยพฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนจีน ตั้งแต่ช่วงใกล้โควิด-19 ระบาดทั่วโลก พวกเขาก็เริ่มเที่ยวแบบมองหาสถานที่ 小众  Unseen หรือที่ยังไม่มีคน โดยเฉพาะคนจีนเดินทางไป หรือรู้จักเยอะมากนัก ซึ่งเป็นโอกาสอันดีของไทย ในการโปรโมทเมืองรอง สถานที่ท่องเที่ยวรอง แต่อุปสรรคสำคัญ คือการเดินทาง ที่ยังไม่สะดวกมากนักถ้าเทียบกับเมืองหลัก รวมทั้งข้อมูลที่มีไม่มากเท่า โดยจุดนี้ สามารถแก้ไขได้ ด้วยการใช้สื่อสังคมออนไลน์แนะนำสถานที่ 小众 ให้มากขึ้น อย่าง การใช้ Douyin (โต่วอิน หรือ TikTok จีน) แพลตฟอร์มสังคมออนไลน์หลักที่คนจีนนิยม ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์การตลาดออนไลน์จีน เมื่อการดูคลิปวิดีโอและการไลฟ์สด เป็นพฤติกรรมหลักของคนจีนยุคนี้


ขอแนะนำให้คุณอ่าน

ช่องแนะนำ

ด้านบน คิดเห็น