ชาวจ้วงในกวางสี พูด"ภาษาไทย" 3,000 ปีมาแล้ว
 การเผยแพร่:2010-05-05 15:20:36   ดูความถี่:0 แหล่ง:sanook
   สรุปย่อจากหนังสือ คนไทย มาจากไหน? และ "พลังลาว" ชาวอีสาน มาจากไหน?

สรุปย่อจากหนังสือ คนไทย มาจากไหน? และ "พลังลาว" ชาวอีสาน มาจากไหน?

หนานหนิง เป็นชื่อเมืองหลวงของมณฑลกวางสี ที่นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยเพิ่งเดินทางไปประชุมนานาชาติเมื่อไม่นานมานี้ แล้วมี "สื่อ" จำนวนมากติดตามไปทำข่าว ได้พบชนชาติ "จ้วง" พูดภาษาไทยอยู่ที่นั่น

มณฑลกวางสีทางใต้ของจีน มีพรมแดนติดกับเวียดนาม (ทางเหนือ) หลายปีมาแล้วกองทัพจีนเคยทำ "สงครามสั่งสอน" เวียดนาม บริเวณพรมแดนกวางสีกับเวียดนามตรงนี้

มณฑลกวางสีกับมณฑลกวางตุ้งอยู่ติดกัน เป็นคน "เครือญาติ" พวกเดียวกันมาก่อนยุคสามก๊ก (ราว 2,000 ปีมาแล้ว) ความหมายของชื่อมณฑลก็อย่างเดียวกันคือ กวาง หมายถึงที่ราบหรือที่กว้าง สี หมายถึงทิศตะวันตก ตุ้ง หมายถึงทิศตะวันออก

สรุปว่ากวางสีหมายถึงที่ราบทางทิศตะวันตก ส่วนกวางตุ้งหมายถึงที่ราบทางทิศตะวันออก

เย่ว์ร้อยเผ่า บรรพชน "คนไทย"

คนพื้นเมืองดั้งเดิมในกวางสีกับกวางตุ้งมีหลายชาติพันธุ์ จีนโบราณเคยบันทึกเป็นเอกสารว่าเป็นพวกเย่ว์ร้อยเผ่า เรียกเป็นภาษาจีนโบราณว่า ไป่เย่ว์ มีชีวิตอยู่ทางใต้ลุ่มน้ำแยงซี (เกียง) มากกว่า 3,000 ปีมาแล้ว ยุคเดียวกับวัฒนธรรมบ้านเชียง (อุดรธานี) บ้านเก่า (กาญจนบุรี) และบ้านโนนวัด (นครราชสีมา)

เย่ว์ร้อยเผ่า เป็นบรรพบุรุษของคนหลายกลุ่ม รวมทั้งเป็นบรรพชนคนพูดภาษาตระกูลไทย-ลาวทุกวันนี้ด้วย มีหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีจำนวนมาก ชี้ว่าเมื่อราว 2,500 ปีมาแล้ว มีเย่ว์ร้อยเผ่าเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณสุวรรณภูมิโดยเฉพาะสองฝั่งโขงที่ลาวและอีสาน แล้วผสมกลมกลืนกับชาติพันธุ์พื้นเมืองกลายเป็นบรรพชนคนไทยและคนลาวปัจจุบัน (อ่านรายละเอียดในหนังสือ คนไทยมาจากไหน? พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2548 และ "พลังลาว" ชาวอีสาน มาจากไหน? พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2549)

เย่ว์ร้อยเผ่ามีกระจัดกระจายอยู่อย่างน้อย 3 มณฑล คือ กวางสี กวางตุ้ง และยูนนาน รวมทั้งที่เมืองกุ้ยหลินอันงดงามมีเสน่ห์ ก็คือพวกเย่ว์ในตระกูลไทย-ลาว หรือจ้วงนั่นแหละ แต่อาจเรียกตัวเองว่า ต้ง

แต่เฉพาะในกวางสีถูกรัฐบาลคอมมิวนิสต์ขอร้องให้ใช้ชื่อรวมๆ เรียกเหมือนๆ กันเมื่อ พ.ศ.2508 ว่า จ้วง นับแต่นั้นมาพวกตระกูลไทย-ลาวในกวางสีเลยได้ชื่อจ้วง ทุกวันนี้มีราว 13 ล้านคน

แต่ในความจำกัดและคลุมเครือนั้น มีหลักฐานทางโบราณคดีและอื่นๆ ยืนยันสอดคล้องกันว่า กลุ่มชาติพันธุ์ในมณฑลกวางสีและกวางตุ้งของจีนตอนใต้ (จำนวนหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่) พูดภาษาตระกูลไทย-ลาว หรือลาว-ไทย แต่สมมุติเรียกให้กระชับและเข้าใจอย่างง่ายๆ ในที่นี้ว่าภาษาไทยสืบเนื่องกันมาตั้งแต่ 3,000 ปีมาแล้ว ปัจจุบันยังมีบางกลุ่มใช้พูดจาสื่อสารกันเองในชุมชนหมู่บ้านและในครอบครัวที่อยู่ห่างไกลจากเมือง

แม้คนในเมืองที่ไม่พูดภาษาไทยแล้ว แต่ยังมีความทรงจำบอกเล่าว่าบรรพชนของตนพูดภาษา "จ้วง" อันเป็นตระกูลเดียวกับภาษาไทย แต่ไม่ใช่คนไทย แล้วเรียกภาษาพูดของตนว่าภาษาจ้วง ที่จับสำเนียงได้ว่าใกล้เคียงตระกูลภาษาไทยสำเนียงลาวสองฝั่งโขงและสำเนียงปักษ์ใต้ เช่น นครศรีธรรมราช

บรรพชนคนจ้วงดั้งเดิมปลูกเรือนเสาสูง กินข้าวเหนียว จึงมีบ๊ะจ่างเหมือนขนมจ้างของไทย-ลาว กับทำขนมเข่งด้วยข้าวเหนียวใช้ไหว้เจ้า (ผี) ตอนตรุษจีน (พวกฮั่น (จีน) อยู่ทางเหนือๆ ขึ้นไป กินข้าวสาลี ทำหมั่นโถวซาลาเปาไหว้เจ้า)

จ้วง เป็นเครือญาติตระกูลไทย

"จ้วง เป็นเครือญาติตระกูลไทยผู้ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุด" มีคำอธิบายรายละเอียดพร้อมรูปถ่าย (ที่พิมพ์ประกอบในเรื่องนี้) ไว้ในหนังสือชื่อคนไทยอยู่ที่นี่ ที่อุษาคเนย์ (มหาวิทยาลัยศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2537) จะขอสรุปคัดมาลงไว้ดังต่อไปนี้

ที่ว่า "จ้วงเป็นเครือญาติตระกูลไทย" ก็เพราะภาษาจ้วงกับภาษาไทยอยู่ในตระกูลเดียวกัน ฉันทลักษณ์ในบทร้อยกรองของจ้วงกับของไทยมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด และมีพื้นฐานจากคำคล้องจองเช่นเดียวกัน

นิทานปรัมปราและนิยายศักดิ์สิทธิ์ที่ถ่ายทอด "ปากต่อปาก" ด้วยภาษาจ้วงหรือภาษาตระกูลไทย เช่น เรื่องกำเนิดคน เรื่องการเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่มีความสัมพันธ์กับน้ำฝน เช่น กบ ฯลฯ ล้วนคล้ายคลึงกับนิทานและนิยายของชนชาติไทยทุกกลุ่มทุกเหล่า รวมทั้งคนไทยในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ชาวจ้วงย่อมพูดว่า "ไทยเป็นเครือญาติตระกูลจ้วง"-ด้วยก็ได้

ที่ว่า-"ผู้ยิ่งใหญ่"-ก็เพราะในมณฑลกวางสีมีชาวจ้วงถึง 12-13 ล้านคน และอยู่ในเขตมณฑลอื่นๆ อีกเกือบ 1 ล้านคน นับเป็นเครือญาติตระกูลไทยที่มีจำนวนมากที่สุดที่อยู่นอกดินแดนประเทศไทยซึ่งนับว่าใหญ่มาก

นอกจากนั้นชาวจ้วงยังมีส่วนเป็นเจ้าของ "วัฒนธรรมฆ้อง" (มโหระทึก) ที่เป็นสัญลักษณ์ของอารยธรรมยุคแรกเริ่มของภูมิภาคอุษาคเนย์ด้วย นี่แหละ "ผู้ยิ่งใหญ่"

ที่ว่า-"เก่าแก่ที่สุด"-ก็เพราะมีร่องรอยและหลักฐานว่าจ้วงมีวัฒนธรรมสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ หรือประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว โดยดูจากภาพเขียนที่ผาลายกับมโหระทึกและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบความเชื่อ "ผี"

ภาพเขียนมหึมาบนภูผามหัศจรรย์-หรือผาลาย เป็นภาพพิธีกรรมขอฝนเพื่อความอุดมสมบูรณ์ มีภาพมโหระทึกและกลุ่มคนประโคมตีมโหระทึก มีภาพคนประดับขนนกบนหัวแล้วทำท่ากางขากางแขนคล้ายกบ

มโหระทึกเป็นกลองหรือฆ้องทำด้วยสัมฤทธิ์ที่มีตัวตนเป็นวัตถุจริงๆ เป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมของภูมิภาคอุษาคเนย์โดยเฉพาะ และมีพัฒนาการเกือบ 3,000 ปีมาแล้ว อาจนับได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของอารยธรรมแรกเริ่มของภูมิภาคอุษาคเนย์ก่อนรับอารยธรรมจากจีนและอินเดีย

เฉพาะบริเวณที่เป็นถิ่นฐานของชาวจ้วงในมณฑลกวางสี พบมโหระทึกฝังอยู่ใต้ดินไม่น้อยกว่า 600 ใบ และชาวจ้วงทุกวันนี้ยังมีมโหระทึกประจำตระกูลกับประจำหมู่บ้านใช้งานในพิธีกรรมที่ทำสืบเนื่องมาแต่ดึกดำบรรพ์อีกรวมนับพันๆ ใบ แสดงว่าชาวจ้วงให้ความสำคัญต่อมโหระทึกมาก จนอาจกล่าวได้ว่าจ้วงเป็นเจ้าของวัฒนธรรมมโหระทึก (แม้ชนชาติอื่นจะมีมโหระทึกด้วย แต่รวมแล้วไม่มากเท่าจ้วง)

ทุกวันนี้ชาวจ้วงยังใช้มโหระทึกประโคมตีในพิธีสำคัญๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิธีกรรม "ขอฝน" เพื่อความอุดมสมบูรณ์ ดังพิธีบูชากบประจำปีตามหมู่บ้านต่างๆ มีขบวนมโหระทึกแห่กบ มีการละเล่นแต่งตัวเป็นกบช่วยเหลือมนุษย์ ฯลฯ ล้วนสอดคล้องกับภาพเขียนที่ผาลาย แสดงว่าชาวจ้วงยังสืบทอดประเพณีและพิธีกรรมตั้งแต่ยุคสัมฤทธิ์จนถึงปัจจุบันเป็นเวลานานราว 3,000 ปีมาแล้ว

นี่แหละ "จ้วง-เครือญาติตระกูลไทยผู้ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุด"

แต่-จ้วงไม่ใช่คนไทย เพราะไม่ได้เป็นประชากรของประเทศไทย และไม่ได้อยู่ในดินแดนประเทศไทย ทุกวันนี้ชาวจ้วงเป็นคนจีน เพราะเป็นประชากรจีน และอยู่ในดินแดนประเทศจีน รวมทั้งวิถีชีวิตที่รับอิทธิพลวัฒนธรรมจีน ไม่ว่าจะเป็นบ้านช่องที่อยู่อาศัย และขนบธรรมเนียมประเพณีหลายๆ อย่าง

แม้จ้วงเป็นเครือญาติตระกูลไทยผู้ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุด ก็ไม่ได้หมายความว่าคนไทยมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเมืองจ้วง มณฑลกวางสี แต่อาจมีชาวจ้วงบางกลุ่มเคลื่อนย้ายมาตั้งถิ่นฐานเป็น "เจ๊ก" ในดินแดนประเทศไทยแล้วแต่งงานกับสาวลาวจนกลายเป็น "คนไทย" สมัยโบราณก็ได้ ส่วนชาวจ้วงเกือบทั้งหมดก็อยู่เมืองจ้วงในกวางสีนั่นแหละ
 

ขอแนะนำให้คุณอ่าน

ช่องแนะนำ

ด้านบน คิดเห็น