จีนกับเทคโนโลยีแห่งอนาคต
 การเผยแพร่:2022-12-14 15:57:47   ดูความถี่:0 แหล่ง:CMG

ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ จีนครองตำแหน่งมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีบ่อยครั้ง การหลอมเหล็ก เทคนิคเครื่องปั้น การทำกระดาษ การใช้ดินปืน หรือ กระทั่งการออกแบบเครื่องตรวจจับแผ่นดินไหวล้วนเป็นนวัตกรรมยุคโบราณโดยปัญญาชนชาวจีน

ความเป็นเจ้าทางเทคโนโลยีกำลังหวนคืนสู่สังคมจีนในยุคปัจจุบัน หากดูทิศทางเด่น ๆ ปีนี้ จะพบว่า จีนมีบทบาทด้านเทคโนโลยีซึ่งปรากฏอยู่ในวาทกรรมเกี่ยวกับอนาคต แหล่งข้อมูลจำนวนมากรายงานตรงกันว่า เทคโนโลยีดังกล่าวหนีไม่พ้นรายการพัฒนาในกลุ่มสังคม พลังงาน และอุตสาหกรรมการผลิตดังตัวอย่างต่อไปนี้  

-         เมตาเวิร์ส หรือ การสร้างความเป็นจริงเสมือนในโลกของเกม โซเชียลมีเดีย บริษัท Alibaba ลงทุนด้านเมตาเวิร์สไปแล้ว 1.58 ล้านเหรียญสหรัฐ บริษัท TenCent ก็มุ่งมั่นด้านนี้จนครองสัดส่วนการผลิตเมตาเวิร์สสูงถึง 40% ในแพลตฟอร์ม epic game

-         AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ เป็นระบบประมวลผลของคอมพิวเตอร์ จักรกล เครื่องยนต์ต่าง ๆ สำหรับลดเวลาและแรงงานในบางภารกิจ รวมทั้งเพิ่มความเป็นไปได้ในการหาคำตอบ เช่น ทำนายการผ่าเหล่าของยีนส์ นำเสนอปฏิกิริยาเกี่ยวกับยา ฯลฯ จีนพยายามนำปัญญาประดิษฐ์ไปใช้ในทุกสาขารวมทั้งดูแลระบบขนาดใหญ่ Cyberspace Administration of China ใช้ปัญญาประดิษฐ์ควบคุมดูแลอัลกอริทึมในโซเชียลมีเดีย เน้นที่การแสดงความเห็นของสาธารณชน

-         เทคโนโลยีสีเขียว โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า มีรายงานว่า จีนให้ความสำคัญกับการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้ามาก 61% ของตลาดโลกด้านนี้จึงตกเป็นของจีน จีนพยายามพัฒนาแบตเตอรี่ให้มีความจุสูง ทนทาน โดยมีบริษัท CALT, BYD และ Svolt เป็นผู้เล่นรายหลัก จีนยังพยายามลดการปล่อยคาร์บอนทั้งจากการผลิตและคมนาคม จึงเตรียมใช้ปัญญาประดิษฐ์ในภาคการผลิตบางตัวซึ่งอาจลดคาร์บอนได้ถึง 35,000 ล้านตันภายในปี พ.ศ. 2603 จีนยังมุ่งมั่นยกระดับพลังงานแสงอาทิตย์ควบคู่กับพลังงานทดแทนอื่น ๆ มีการวางเป้าไว้ว่า อีก 8 ปีข้างหน้าพลังงานทดแทนของจีนจะต้องมีปริมาณการใช้ขั้นต่ำในประเทศประมาณ 20% ของการใช้พลังงานทั้งหมด

-         รถยนต์ไร้คนขับซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อความสะดวกสบายและลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาจีนเผยมาตรการสำหรับควบคุมรถยนต์ไร้คนขับตั้งแต่ระดับ L0 (ยังใช้แรงงานมนุษย์ควบคุมเป็นส่วนใหญ่) ถึง L5 (รถยนต์ควบคุมการเดินทางด้วยตัวเองอย่างสมบูรณ์) ซึ่งหมายความว่า จีนกำลังเข้าใกล้เส้นชัยความสำเร็จของอุตสาหกรรมแขนงนี้

-         เทคโนโลยีดิจิตอลตามแผน DSR (Digital Silk Road) จีนพยายามพัฒนาระบบสาธารณูปโภคแบบดิจิตอลทั้งในและต่างประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ส่งผลให้จีนรับบทบาทการสร้างระบบ 5G ในพื้นที่สำคัญ เช่น กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย หรือ ประเทศแถบแอฟริกา

-         ดวงอาทิตย์เทียม หรือ เครื่องมือในการควบคุมปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่นซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นภายในแกนกลางของดวงอาทิตย์ นิวเคลียร์ฟิวชั่นให้ความร้อนกับแสงสว่างสูงจนถูกยกให้เป็นพลังงานในอุดมคติ เพราะผลิตได้ไม่หมดและมีความปลอดภัย การทดสอบนิวเคลียร์ฟิวชั่นปลายปี พ.ศ. 2564 ของจีนนำไปสู่พลังงานความร้อนเกือบ 70 ล้านองศาเซลเซียส นานประมาณ 17 นาที การทดลองขั้นต่อ ๆ ไปคือการให้พลังงานยาวนานขึ้นภายใต้เกณฑ์ความปลอดภัยสูงสุด

-         คอมพิวเตอร์ควอนตัมซึ่งประมวลผลเร็วกว่าซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ทั่วไป จิวจ่าง 2.0 คือผลผลิตหนึ่งของจีน มีความเร็วประมาณหนึ่งล้านล้านล้านล้านเท่า หรือ septillion ในภาษาอังกฤษ สามารถตรวจจับอนุภาคของแสงได้สูงถึง 113 โฟตอน ว่ากันว่า จีนให้น้ำหนักแก่การพัฒนาคอมพิวเตอร์ควอนตัมมากจนถึงขั้นลงทุนไปแล้วกว่า 15.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่สหภาพยุโรปลงทุน 7.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามมาด้วยสหรัฐฯ 2.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ญี่ปุ่น 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ และสหราชอาณาจักร 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในการนี้จีนยอมกระจายศูนย์วิจัยด้านคอมพิวเตอร์ควอนตัมทั่วประเทศ และเตรียมสร้างพื้นที่ใหม่ ๆ รองรับการพัฒนา เช่น ควอนตัมวัลเลย์ที่เมืองจี่หนาน ภายในอีก 3 ปีข้างหน้า

กล่าวได้ว่า เทคโนโลยีหลายอย่างสอดรับกับความต้องการในอนาคตที่เน้นการรักษาสภาพแวดล้อมกับความยั่งยืน หลายฝ่ายมองเทคโนโลยีจีนเป็นเครื่องฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 ธุรกิจโลจิสติกส์ (หมายถึง ระบบการจัดส่งสินค้า บรรจุหีบห่อ และบริหารสินค้าคงคลัง) ก็มุ่งมายังทิศทางดังกล่าว ผู้ประกอบการจำนวนมากพิจารณาการใช้ปัญญาประดิษฐ์ ยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ และการเก็บข้อมูลในระบบคลาวด์ เพื่อลดค่าใช้จ่ายระหว่างการกระจายสินค้า หรือ แก้ไข/ส่งคืนสินค้าตามความต้องการลูกค้า

การศึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญเผยว่า ความล้ำหน้าของจีนมาจากความพยายามวางเป้าการแข่งขันเทคโนโลยีระดับโลก จีนใช้ยุทธศาสตร์สร้างบุคลากรที่มีพรสวรรค์โดยยอมปรับปรุงการศึกษาในประเทศพร้อมกับดึงผู้เชี่ยวชาญสายเลือดจีนในต่างประเทศให้กลับมาทำงานรวมทั้งจูงใจผู้เชี่ยวชาญต่างชาติให้มาร่วมงานกับจีน การชูศาสตร์ทางด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมก็เป็นปัจจัยหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2543 จีนมีบัณฑิตจบด้านนี้ 360,000 คน แต่ 15 ปีถัดมา ปริมาณบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมกลับเพิ่มขึ้นถึง 1.7 ล้านคน

ด้วยความช่วยเหลือภาครัฐ เทคโนโลยีจีนจึงก้าวหน้า แต่ความร่วมแรงร่วมใจก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความก้าวหน้านั้นยั่งยืน ชาวจีนให้ความเชื่อมั่นในพรรค หลายคนพร้อมอุทิศเพื่อประโยชน์แห่งรัฐและสังคมโดยรวม

แต่นักวิเคราะห์อีกกลุ่มกลับมองความก้าวหน้าว่า มาจากความพยายามครองอำนาจนำระหว่างประเทศ วาทกรรม “ความฝันของจีน” ถูกนำมาเชื่อมโยงทั้งทางตรงและทางอ้อม นายสี จิ้นผิงประธานาธิบดีจีนกล่าวถึงความฝันของจีนครั้งแรกเมื่อขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนปี พ.ศ. 2555 ความฝันของจีนเน้นเป้าการฟื้นฟูชนชาติจีนโดยไม่ทิ้งระบบสังคมนิยมตามแบบฉบับชาวจีน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวว่า เพื่อเดินไปยังเส้นทางดังกล่าว จีนจะต้องสร้างจิตวิญญาณที่มาจากการหลอมรวมชาติเข้ากับความรักชาติรวมทั้งรักษาความมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูและสร้างนวัตกรรม  

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นการตีความจากมุมภูมิรัฐศาสตร์ ถ้าพิจารณาจากวิถีการพัฒนาของจีนเองจะพบว่า นวัตกรรมหลายอย่างตอบโจทย์ความฝันของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นความยั่งยืน ความปลอดภัย หรือ ความพยายามก้าวข้ามขีดจำกัดทางเทคโนโลยีอย่างที่เห็นในเรื่องพลังงาน ดังนั้นถ้ามองจากตัวเทคโนโลยี ความฝันของจีนไม่ใช่การไขว่คว้าอำนาจนำอย่างที่ประเมิน แต่เป็นการวางตัวในฐานะศูนย์กลางที่จะนำพามนุษย์ไปสู่หมุดหมายแห่งอนาคตมากกว่า

คำถามถัดมา แล้วหมุดหมายแห่งอนาคตคืออะไร

เป็นไปได้ว่า หมุดหมายนั้นคือการบรรลุอารยธรรมที่สูงขึ้นไปอีกขั้น ช่วงตอนหนึ่งของแผนงานด้านอวกาศจีนระบุว่า จีนจะเดินหน้าสำรวจอวกาศเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอวกาศให้มากที่สุด และถ้านำ Kardashev scale มาประกอบ จะพบว่า อารยธรรมขั้นสูงไม่ใช่เรื่องทึกทักกันไปเอง Kardashev scale ใช้วัดระดับอารยธรรมสิ่งมีชีวิตโดยประเมินจากความสามารถในการใช้พลังงาน ระดับ 1 หมายถึง สามารถใช้พลังงานได้จากทุกแหล่งในดาวเคราะห์ที่อยู่อาศัย ระดับ 2 คือ ความสามารถใช้พลังงานจากดาวฤกษ์ในระบบที่ดาวเคราะห์นั้นหมุนวน ระดับ 3 ว่าด้วยการใช้พลังงานจากทุกแห่งในระบบดาราจักร พัฒนาการด้านพลังงานและอวกาศของจีนมาตามแนวทางนี้ชัดเจน พัฒนาการด้านอื่นก็มุ่งความก้าวหน้าบนฐานความคิดโลกสีเขียว

เทคโนโลยีจีนจึงเต็มไปด้วยจินตนาการของมนุษย์ ทั้งยังตอบรับความท้าทายที่กระทั่งกลุ่มอำนาจอื่นอาจไม่กล้าทำ


ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์

นักวิจัยด้านวัฒนธรรมสัมพันธ์และความมั่นคงเอเชีย

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขอแนะนำให้คุณอ่าน

ช่องแนะนำ

ด้านบน คิดเห็น