สัมมนา"ขยะ – ปัญหาวาระแห่งชาติ" (ของไทย)
 การเผยแพร่:2016-06-23 13:22:22   ดูความถี่:0 แหล่ง:CRI

กรุงเทพฯ – เมื่อปัญหาขยะกลายมาเป็นวาระแห่งชาติ ชุมชนหลายแห่งในประเทศไทยกระตือรือร้นที่จะร่วมแก้ไขปัญหาเรื่องขยะในท้องถิ่น แต่อาจจะติดขัดด้วยเรื่องขาดเทคโนโลยี ไม่มีเงินทุน และไม่มีความรู้ ทำให้การจัดการเป็นไปอย่างไม่ได้ประสิทธิภาพ ด้วยความใส่ใจในปัญหาการจัดการของเหลือใช้ที่เรียกว่า "ขยะ" งานสัมมนา "ขยะ: การจัดการและวาระแห่งชาติ" จึงจัดขึ้นที่ห้องประชุมใหญ่ สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2559 โดยมีจุดประสงค์หลักคือต้องการสร้างความรู้ให้องค์กรบริหารท้องถิ่น, หาทางเป็นไปได้ในการจัดการขยะรวมถึงแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ปัญหาและอุปสรรคที่พบในท้องถิ่น

นายจรินทร์ จักกะพาก อธิบดีส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ประธานในพิธีเปิดเผยว่าขยะเป็นปัญหาที่มีมานานแล้ว มีคนสนใจจะลงทุนเรื่องขยะนำไปผ่านกระบวนการเพื่อสร้างรายได้ ในประเทศไทยมีหลายชุมชนที่เป็นตัวอย่างที่ดีในการจัดการขยะ เช่น จังหวัดบึงกาฬ ที่สามารถคัดแยกขยะในระดับครัวเรือนได้ครบทุกหมู่บ้าน ลดปริมาณขยะได้มากและยังมีรายได้จากการบริหารขยะ นอกจากนี้ยังมีที่หนองสำโรง อุดรธานี, พนัสนิคม ชลบุรี, เทศบาลนคร ภูเก็ตเป็นต้น เรื่องราวความสำเร็จของชุมชนเหล่านี้อาจจะเคยผ่านหูหลายท่านมาบ้างแต่ยังไม่มีการนำเอารายละเอียดเผยแพร่เข้าสู่สาธารณชนในวงกว้าง

เมื่อปีพ.ศ. 2557 ประเทศไทยเริ่มมีโรดแมปในการกำจัดขยะและล่าสุดในปีนี้ ไทยได้วางแผนแม่บทจัดการขยะโดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นแกนกลาง ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่าปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนำขยะมูลฝอยไปกำจัดโดยวิธีฝังกลบอย่างถูกหลักมีแค่ 36% เท่านั้น ที่เหลือมีการเทกองกลางแจ้งซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อมจึงมีการนำแนวคิดแบบ 3Rs คือ "Reduce Reuse และ Recycle" หรือลด คัดแยกและนำกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงระบบประชารัฐคือการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อนำมาแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน

กลยุทธ์ในการบริหารจัดการขยะรวมถึงการลดปริมาณ รวบรวมของเสีย จัดการมูลฝอยติดเชื้อ กากอุตสาหกรรมและสนับสนุนการดำเนินงานและการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับขยะมูลฝอยติดเชื้อ 60% มาจากโรงพยาบาลของรัฐและ 40% ที่เหลือมาจากโรงพยาบาลเอกชนและครัวเรือน

เป้าหมายในการจัดการขยะคือสามารถลดปริมาณขยะลงได้ 5% ของเสียได้รับการคัดแยกมากขึ้น รวมถึงกากอุตสาหกรรมและขยะมูลฝอยที่ติดเชื้อได้ถูกกำจัดอย่างถูกต้อง

ขยะในยุคนี้สามารถสร้างคุณค่าและแปลงเป็นเงินกลับเข้ามาได้ด้วย รูปแบบของการพัฒนาขยะแต่ละยุคสมัย เริ่มจากยุคที่1ฝังกลบแบบ Open Dump ยุคที่2 การคัดแยกด้วยมือ ต่อเนื่องมายุคที่3 เผาขยะโดยตรงแบบไม่คัดแยกและเริ่มมีการผลิตน้ำมันสังเคราะห์จากพลาสติก ตอนนี้เราเข้าสู่ยุคที่4 คือการแปลงขยะเป็นเชื้อเพลิงพลังงานที่เรียกกันว่า RDF (Refuse Derived Fuel) และผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ RDF ด้วยเทคโนโลยีปลอดมลพิษ

ข้อดีของ RDF คือช่วย ลดปัญหาการไม่แยกขยะ, ความชื้นต่ำ ค่าความร้อนสูง, สนับสนุนหลัก 3Rs, มลพิษต่ำ คลอไรด์น้อยและมีการคัดแยก PVC ออก, ทำให้การจัดการขยะรวมศูนย์สะดวกมากขึ้น, ใช้ได้กับโรงไฟฟ้าแทบทุกชนิด ช่วยให้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากขึ้น และสามารถสำรองเก็บไว้ใช้หรือจำหน่ายโดยไม่ทำให้ขยะตกค้าง สำหรับเส้นทางการขออนุญาตขายไฟฟ้าจากพลังงานขยะนั้นจากเริ่มจากผ่านมาทางองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท) ไปที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ) ต่อไปที่จังหวัดและสุดท้ายที่กระทรวงมหาดไทย 


ขอแนะนำให้คุณอ่าน

ช่องแนะนำ

ด้านบน คิดเห็น